หลวงพ่อเดิม  วัดหนองโพ                  
สุดยอดเครื่องรางของขลังขมังเวทย์

LINE it!

     ค่านิยมของพระเครื่องจะมีราคาค่าเช่ามากน้อยแค่ไหนนั้น  ใครเป็นผู้กำหนดว่ารุ่นไหนควรจะมีคุณค่าราคาหลักหมื่น หรือหลักแสน ไปจนถึงหลักล้าน  แน่นอนเริ่มแรกน่าจะสืบเนื่องมาจากความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อเกจิอาจารย์ผู้สร้าง แต่ส่วนที่สำคัญสุดคือประสบการณ์ของผู้บูชาที่เล่าขานบอกต่อกันมา และสุดท้ายบรรดาเชียนพระที่ทำเป็นธุรกิจ เพราะได้มาถูกแต่มักจะขายแพง   

     แต่อย่างไรก็ตามหากคุณมีความศรัทธาจริง ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหลงกระแสกับราคาที่กำหนดไว้  โดยเฉพาะวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิม  พุทธสโร   แห่งวัดหนองโพ   พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองเวทย์แห่งปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์นั้น    ที่มีราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น  ซึ่งสามารถหาเช่าได้ไม่ยากและถึงแม้ราคาจะไม่สูง  แต่ถ้าผ่านการปลุกเสกจากหลวงพ่อเดิมแล้ว รับรองได้ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพึ่งได้  โดยเฉพาะมีดหมอ ที่ขึ้นชื่อเป็นต้นตำรับอันดับหนึ่งของเมืองไทย พร้อมทั้งสิงห์งาแกะที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก รวมถึงรูปเหมือนปั๊ม  กับรูปหล่อโบราณ ต่างได้รับนิยมไปทั่ว    

                            

     สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อเดิมนั้น  เมื่อท่านอายุครบบวชแล้ว โยมบิดามารดาได้สอบถามความสมัครใจในการจะอุปสมบทท่านไม่ขัดข้อง จึงได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2423 โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) เป็นอุปัชฌาย์   หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง (ครูสวด)  และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล  โดยได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" เมื่อุปสมบทแล้วได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองโพ 


                                                 
สิงห์งาแกะองค์ครูแบบ 3 ขวัญ

     ในการร่ำเรียนทางด้านวิชาอาคมนั้นได้เริ่มจากหลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) เป็นพระเถระที่มีความคงขลังเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวจังหวัดนครสวรรค์ เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาการ การวิปัสสนากรรมฐาน อิทธิปฏิหารย์มากมาย หลวงพ่อเดิมไปศึกษากับท่านหลายอย่าง (โดยเฉพาะวิชานะ ปัดตลอด)  และได้มาศึกษาต่อกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี เป็นผู้เยี่ยมยุทธ์ในพุทธาคมเป็นอันมาก (เป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อเฒ่า รอด วัดหนองโพ) เชี่ยวชาญทางด้านอาคม ทางวิปัสสนา

       และมีวิชาที่เป็นเอกคือ น้ำมนต์จินดามณีสารพัดนึก ใครได้รดน้ำมนต์จากท่านแล้วจะมีโชคชัย เคราะห์ร้ายหายดี ปราถนาทุกประการได้ดั้งประสงค์ เมื่อคราวล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จประภาสหัวเมืองเหนือ ได้โปรดให้รดน้ำมนต์ถวาย สำหรับหลวงพ่อเดิมนั้นท่านได้ศึกษาทั้งทางวิปัสสนากรรมฐานและการเจริญกสิณ พร้อมด้วยวิชาน้ำมนต์จินดามณีสารพันนึก  เพราะน้ำมนต์ของหลวงพ่อเดิม ต่อมาก็คล้ายกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง


                                               
เหรียญรูปเหมือนปั๊มทรงไข่ดอกจันตรงปี 2482

     จากนั้นก็ไปศึกษากับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล  ซึ่งเป็นพระเถระที่เป็นอมตะ อาคมขลัง วาจาสิทธิ์ เป็นที่ยำเกรงดีทางวิปัสสนา และน้ำมนต์ ตลอดจนมหาอุตม์ ไม่เคยออกของมงคลเป็นรูปท่าน  นอกจากพระเครื่องบ้างเป็นครั้ง  ซึ่งหลวงพ่อเดิมได้ไปเรียนปริยัติ พร้อมกับศึกษาหาความรู้ทางวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล อันเป็นพระคู่สวดของท่าน ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทางวิปัสสนาคาถาอาคม การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ตามที่หลวงพ่อเทศ ถนัดทุกประการ 

     สุดท้ายหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว ได้ยินมาจากบางที่ว่าท่านไปเรียนวิชามีดหมอกับหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เพราะต่อมาท่านชำนาญในเรื่องมีดหมอและมีชื่อเสียงมาก พอท่านเรียนสำเร็จหลวงพ่อขำก็มรณะภาพขาดทายาทสืบต่อไประยะหนึ่ง ต่อมาหลวงพ่อกัน วัดเขาแก้วจึงตามมาเรียนกับหลวงพ่อเดิม และกลับไปทำมีดหมอที่วัดเขาแก้ว   

     สรุปแล้วในการเรียนวิชาของหลวงพ่อเดิม หากนับตั้งแต่ปริยัติ คาถาอาคม วิปัสสนา และการทำของขลัง รวมแล้วกินเวลาถึง 12 ปี นับแต่บวชมาทำให้ท่านมีความรู้มากมาย เป็นที่เคารพรักของชาวหนองโพทุกคน   สำหรับหลวงพ่อเดิมนั้นได้มรณภาพเมื่อวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 เวลา 17.45 น. สิริรวมอายุได้ 92 ปี พรรษาที่ 70


                                                               
รูปเหมือนปั๊มพิมพ์ฐานสูง

     ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ มีมหรสพทุกชนิด ที่ลูกศิษย์ลูกหาพากันมาแสดง เพื่อเป็นการไว้อาลัยหลวงพ่อเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อไฟพระราชทานได้เผาสรีระของหลวงพ่อมอดไหม้ไปแล้วทางกรรมการวัดได้ขึ้นเก็บอัฐิและเถ้าอังคารส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปบรรจุในเจดีย์เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ แต่ขณะเดียวกันบรรดาชาวบ้านต่างวิ่งเบียดเสียดกัน เพื่อแย่งชิงอัฐิของหลวงพ่อเดิม จนไม่มีอัฐิของหลวงพ่อติดเมรุอยู่เลยแม้แต่น้อย และเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ทั้งๆ ที่ไฟบนเมรุยังร้อนอยู่ แต่คนที่แย่งชิงกันนั้น ไม่มีใครมือพองเพราะความร้อนแม้แต่น้อยเลย

          ทุกวันนี้ชาวนครสวรรค์ทุกคนยังเคารพให้ความนับถือหลวงพ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะทางวัดหนองโพได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของหลวงพ่อพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านหล่อสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.2482  ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ที่มณฑป ซึ่งมีประชาชนมากราบนมัสการทุกวันมิได้ขาด และทางวัดหนองโพได้จัดงานทำบุญประจำปีปิดทอง ไหว้พระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี


ต้นตำรับมีดหมออันดับหนึ่ง 

     เมื่อกล่าวถึงมีดหมอหลวงพ่อเดิม ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของมีดหมอ เพราะเวลานี้ราคาขึ้นสูงนับวันจะหายากขึ้นทุกที โดยได้สร้างไว้ 2 ขนาด คือ มีดหมอขนาดใหญ่ เรียกว่า มีดควาญช้าง ขนาดเล็กลงมาเรียกว่า มีดหมอปากกา ใช้พกพาติดตัวได้ วัดหนองโพนั้นว่ากันว่าเนื้อเหล็กที่นำมาใช้ตีเป็นมีดนั้นจะมีส่วนผสมประกอบด้วยตะปูสังขวานร ซึ่งเป็นตะปูในสมัยโบราณที่ใช้ยึดเครื่องไม้ในพระอุโบสถแทนตะปู ตะปูโลงผีที่สัปเหร่อเผาแล้วเก็บไว้ บาตรแตกชำรุด และเหล็กน้ำพี้ นำมาเป็นส่วนผสมใช้ทำมีดหมอ 


                                                       
มีดหมอควาญช้าง กับมีดหมอปากกา

     สำหรับช่างที่ตีมีดหมอของหลวงพ่อเดิมนั้น เท่าที่พบจะเป็นฝีมือช่างฉิม ช่างไข่ และช่างสอน ซึ่งแต่ละช่างจะมีเอกลักษณ์ของตัวมีดของตนเองต่างกันไป   เมื่อช่างทำใบมีดเสร็จแล้ว ก็จะส่งต่อให้ช่างทำด้ามและฝักทำต่อ ส่วนที่เป็นตัวด้าม ถ้าเป็นมีดเล่มใหญ่จะมีด้ามเป็นงา และฝักเป็นไม้คูน แต่ถ้าเป็นเล่มเล็กจะมีด้ามเป็นงาและฝักเป็นงา 

     จากนั้นจึงส่งต่อไปให้ช่างทำเงินทำที่รัดปลอกมีดและด้ามมีด ช่างจะทำเงิน ทองหรือนากตามที่กำหนด โดยส่วนมากจะเป็นเงินเพียงอย่างเดียว เมื่อทุกอย่างเสร็จจะนำมาประกอบที่วัดหนองโพ โดยหลวงพ่อเดิมจะทำผงอิทธิเจไว้ให้ ผสมกับเส้นเกศาของหลวงพ่อที่ปลงในวันขึ้น 15 ค่ำ และแผ่นตะกรุด ซึ่งเป็นเงิน ทอง นาก เป็นแผ่นเล็กๆ ลงอักขระ ตัดพอดีกับตัวกั้นของมีด บรรจุลงไปในด้ามมีดอุดด้วยครั่งจนแน่น หลังจากนั้นหลวงพ่อเดิมจึงนำมีดหมอไปปลุกเสกอีกทีหนึ่ง


                                                           
มีดหมอจักรนารายณ์สามกษัตริย์ 

      สำหรับอักขระเลขยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ คาถามงคล 9 หรือ หัวใจอิติปิโส แต่หลวงพ่อเดิมท่านจะเรียกว่า คาถา “พระขรรค์เพชร” สำหรับลงมีดหมอโดนเฉพาะ ที่ “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ พะ” ในขณะที่สำนักอื่นๆ จะใส่ หัวใจ 108 ซึ่งประกอบด้วยคาถา 3 บท คือ คาถาพระเจ้า 5 พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” คาถาธาตุ 4  “นะ มะ พะ ทะ” และ คาถาหัวใจ ธาตุพระกรณี (หัวใจพระพุทเจ้า) ที่ว่า “จะ พะ กะ สะ” ส่วนธาตุกรณี จะใช้ว่า “จะ อะ พะ ตะ”



        ด้านพุทธคุณของมีดหมอหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพนั้น ต้องบอกว่าดีในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมหาอุดหยุดลูกปืน   อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ป้องกันเขี้ยวงา ป้องกันคุณไสย การกระทำย่ำยี รวมถึงป้องกันกับขับไล่ภูตผีปีศาจร้ายได้  และที่สำคัญบรรดาพวกหนังเหนียวทั้งหลายที่มีรอยสักยันต์เต็มตัว หรือเครื่องรางของขลังที่อยู่ยงคงกระพัน  ต่างเกรงกลังมีดหมอกันทั้งนั้น เพราะถ้าเจอกับมีดหมอมีหวังเนื้อยุ่ยเลือดกระจายเป็นแน่  และเคยมีผู้พบประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มามากมาย สำหรับวิธีอาราธนามีดหมอของหลวงพ่อเดิมเวลาจะไปไหนมาไหนให้ระลึกถึงหลวงพ่อเดิมแล้วว่า "พระพุทธังรักษา พระธรรมมังรักษา พระสังฆังรักษา ศัตรูมาบีฑาวินาศสันติ"



                                               สิงห์งาแกะตะปบเหยื่อตาฝังพลอย

สิงห์งาแกะสุดขลัง

     มาถึงเครื่องรางของขลังอีกอย่างที่มีชื่อเสียงมากจนเป็นยอมรับไปทั่ว เห็นจะเป็นสิงห์งาแกะ  เรียกว่าเป็นต้นตำรับของสิงห์งาแกะ  โดยได้สร้างออกมาหลายแบบไม่ว่าจะเป็น สิงห์งาแกะแบบ 3 ขวัญ  สิงห์งาแกะแบบ 2 ขวัญ  และสิงห์งาแกะกรอบกระจก รวมไปถึงสิงห์งาแกะในรูปหัวใจ ในการสร้างสิงห์งาแกะนั้น เกิดขึ้นจากเศษงาที่เหลือจากการทำด้ามมีด หลวงพ่อท่านเสียดายงา จึงได้สั่งให้ช่างแกะสิงห์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2470 เรื่อยมาจนถึงวาระใกล้มรณภาพ อายุการสร้างสิงห์งาแกะถึงปัจจุบัน 80 กว่าปี 


                                                             
สิงห์งาแกะกรอบกระจก 

   ในการพิจารณาสิงห์ของหลวงพ่อเดิมนั้น ต้องจดจำศิลป์ คือรูปแบบมาตราฐานลายมือของช่างให้ได้ และเข้าใจถึงวิธีการแกะด้วยเครื่องมือคือสิ่วรูปตัววี และเหล็กหลายแบบ การเซาะ ขุด แกะเจาะ เป็นงานแฮนด์เมดทำทีละตัว ดูพื้นผิวของงาจะเห็นร่องรอยชัดเจนเป็นเหลียมมุมไม่เสมอกัน ไม่มีรอยเลื่อยด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ หรือรอยเลื่อยฉลุ 


                                                               
สิงห์งาแกะรูปหัวใจ

     ปิดท้ายด้วยคาถาบทหนึ่ง  ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อนมอบให้ไว้ ซึ่งเป็นคาถาที่ศิษย์หลวงพ่อเดิมใช้กันทุกคน คือ "นะ เมตตา โม กรุณา พุท ปรานี ธา ยินดี ยะ เอ็นดู มะ คือตัวกู อะ คือคนทั้งหลาย อุ เมตตาแก่กูสวาหะ นะ โม พุทธายะ"    ส่วนคาถากำกับสิงห์งาแกะว่าดังนีี้ "ตะโตโพธิสัตโต ราชะสิงโห ตะมะหิทธิโกติ ตะมัตถังปะกาเสนโต สัตถาอาหะ" หัวใจราชสีห์ "สีหะนาทัง"


                                                      สิงห์งาแกะแบบสองขวัญ

เหรียญเสมากับรูปไข่ 

     สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิม   นอกจากมีดหมอกับสิงห์งาแกะที่ขึ้นชื่อเป็นต้องการของผู้ที่ศรัทธาแล้ว ยังมีเหรียญเสมารุ่นปี 2470   ซึ่งคณะศิษย์พร้อมใจกันขออนุญาตหลวงพ่อเดิม สร้างเหรียญรุ่นแรกขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ 1. เหรียญพิมพ์เสมา เป็นศิษย์สายกรุงเทพฯ สร้าง และ 2.เหรียญแมงกะบี้ เป็นศิษย์สายนครสวรรค์สร้าง


                                                           
เหรียญเสมารุ่นแรกปี 2470 

     เหรียญเสมาด้านหน้ารูปหลวงพ่อนั่งสมาธิบนธรรมาสน์ ด้านบนมีอักขระยันต์มหาอุด "อุด ธัง อะ โธ" ใช้ทางมหาอุด มีข้อความ "หลวงพ่อ พระครูเดิม วัดหนองโพธิ์" ด้านหลังเป็นอักขระยันต์สองแถว คือ 1.คาถาพระเจ้า 5 พระองค์ ที่ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" มีพุทธครอบจักรวาล  2.คาถากระทู้ 7 แบก ที่ว่า “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา” สำหรับใช้ทางแคล้วคลาด และคงกระพัน


                                                 
เหรียญรูปเหมือนปั๊มแบบดอกจันโค้ง

      ส่วนเหรียญรูปเหมือนของหลวงพ่อเดิมรูปไข่ปี 2482  นั้นมีค่านิยมมากเพราะผู้ที่นำไปบูชาต่างได้รับประสบการณ์ในหลายอย่างทั้งแคล้วคลาดปลอดภัย  เมตตามหานิยม   จึงทำให้สนนราคาค่าเช่าเวลานี้เกินครึ่งแสน   ซึ่งเหรียญรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม ปี 2482 มีเนื้อหลัก ๆ 2 เนื้อ  คือ เนื้อทองเหลืองและเนื้ออัลปาก้า ซึ่งเนื้อทองเหลืองจะมีจำนวนการสร้างมากกว่าเนื้ออัลปาก้า ปัจจุบันวงการแบ่งพิมพ์เป็นมาตราฐานสากลที่วงการยอมรับ 4 พิมพ์

เหรียญนาคปรกเล็กปี 2470

       เหรียญนาคปรกเล็กหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จัดว่าเป็นเหรียญที่หายากมากเลยทีเดียวครับ แค่คิดจะหายังยากขนาดนี้หมายถึงเหรียญแท้เท่านั้น สภาพไหนก็ได้แต่ขอแท้ไว้ก่อน ส่วนใหญ่พบทั่วไปร้อยละเก้าสิบจะเก้ เรียกว่า เก๊เป็นส่วนมาก วันนี้นำมาให้ชมเป็นเหรียญพิมพ์นิยมยังสวยน่ารัก สภาพเดิมๆเกือบ 100% มีกะไหล่เงินเคลือบผิวทั่วทั้งเหรียญ ปัจจุบันมีสื่อต่างๆรวมไปถึงเซียนและชาวบ้านบ้านหนองโพธิ์เล่าว่า  เหรียญนาคปรคจัดสร้างขึ้นพร้อมกับเหรียญเสมารุ่นแรกของหลวงพ่อเดิมท่านในปี 2470


                                                          เหรียญพระนาคปรกเล็กปี 2470            

       แต่หนังสือบางเล่มว่าสร้างในปี 2485 นักเล่นอาวุโสในปากน้ำโพหลายท่านให้การตรงกันว่าออกพร้อมเหรียญรุ่นแรก 70 โดยสร้างขึ้นจำนวนน้อยมาก ซึ่งทั้้งมีเนื้อเงิน และทองแดง กะไหล่ทอง,ทองแดง กะไหล่เงิน และทองแดงผิวไฟ  ขอบข้างแบบกะบอกข้างเรียบ และแต่งข้างด้วยตะไบทุกเหรียญ ด้วยเหรียญนี้มีสร้างขึ้นภายหลังอีกแต่คนละบล็อกกัน บล็อกนิยมต้องพิมพ์นี้ครับ ถือเป็นรุ่นแรก การพิจารณาบล็อกนิยมนี้ ด้านหน้าใหเดูเส้นเกล็ดนาคตัวล่างสุดด้านขวาองค์พระ ซ้ายมือเรา จะมีเส้นเกินจากตัวนาคแทงมาบนไหล่ขวาพระครับ  ด้านหลัง ดูคำว่าวัดหนองโพ จะมีจุดเกินเหนือหัว ห หีบแตะกับหัวของ น หนู   ราคาเช่าหานั้นถ้าสวยจัด ๆ หลักแสนขึ้น ถึงกลางเลย หากเนื้อเงินก็แสนกลางขึ้นไป


รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม

      ในขณะเดียวกันรูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึงก็เล่นหากันมาก เช่นเดียวกับรูปเหมือนหล่อโบราณที่ออกวันหนองหลวงมีทั้งพิมพ์ฐานสูงและฐานเตี้ย  รวมไปถึงเหรียญหล่อพิมพ์จอบ และพระปิดตา โดยรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2482 พร้อมเหรียญรูปไข่  โดยทางคณะศิษย์จ้างโรงปั๊มที่พระนคร  ซึ่งการจัดสร้างในครั้งนั้นมีจำนวนไม่กี่พันองค์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 เนื้อ คือ  เนื้อทองเหลือง กับเนื้อช้อนซ้อม หรือเนื้ออัลปาก้า  ที่เรียกเนื้อช้อนซ้อมเพราะทางโรงงานใช้ช้อนซ้อมตราแพะมาหลอมรีดเป็นวัตถุดิบ


                                                                       
     รายละเอียดในการจัดสร้าง รูปเหมือนปั๊มนี้เท่าที่ศึกษาค้นคว้ามามีเพียงบล็อกแม่พิมพ์ตัวเดียวคือช่างจะแกะบล็อกด้านหน้าและด้านหลังเพียงชุดเดียว แต่ในระหว่างการผลิตบล็อกแม่พิมพ์มีเพียงชุดเดียว เมื่อผ่านการกระแทกไปบ่อยครั้งแม่พิมพ์นั้นเกิดการชำรุดแตกตัวเป็นรายละเอียดที่เริ่มแตกต่างจากการปั๊มในคราวแรก ๆนักนิยมสะสมพระเครื่องก็เลยจับจุดปลีกย่อยเหล่านี้มาจำแนกพิมพ์เป็นพิมพ์นิยม 1(เอ) -2(บี) -3(ซี) และ 4(ดี)

     และสุดท้ายแม่พิมพ์ด้านหน้าชำรุดคือตื้นและแตก ช่างได้ทำแม่พิมพ์ด้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แบบพิมพ์คือ 1. พิมพ์คอตึงจีวรถี่ 2. พิมพ์คอตึงจีวรห่าง แต่แม่พิมพ์ด้านหลังคงใช้แม่พิมพ์เดิมฉะนั้นด้านหลังของแม่พิมพ์คอตึงจึงมีแบบเดียวกับแม่พิมพ์ที่ 4 (ดี) แต่เฉพาะรูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึงทั้ง 2 แบบพิมพ์จะมีเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวไม่เคยพบว่ามีเนื้อช้อนซ้อม(อัลปาก้า)แต่อย่างใด


                                                           
รูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึง จีวรห่าง

     และนี่คือข้อมูลในการจัดสร้างรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม  ซึ่งรูปเหมือนนั้นจะต้องเรียบตึงไม่มีรูพรุน หรือฟองอากาศเด็ดขาดไม่มีตุ่มนูน แม้แต่เม็ดผดขึ้นตามผิวองค์พระ ซึ่งต้องจดจำรายละเอียดต่าง ๆหรือตำหนิให้ได้ ที่สำคัญต้องจำลายมือในการลงเหล็กจารใต้ฐานให้แม่น ซึ่งจะเป็นลายมือของหลวงพ่อน้อย ศิษย์เอกหลวงพ่อเดิม แต่ก็มีมากกว่าสองลายมือที่ลงเหล็กจาร ลายมือหลวงพ่อน้อยนั้นเส้นจะเล็กสวยงาม ตรงจุดนี้สำคัญ

     นอกจากนี้รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม รุ่นเพดานโบสถ์ น่าจะถูกสร้างบรรจุบนเพดานเมื่อตอนฉลองโบสถ์ โดยพระบางส่วนจะมีการแจกในสมัยหลวงพ่อเดิม  ซึ่งเป็นพระที่เหลือจากการบรรจุไว้บนเพดานและได้ถูกพบเมื่อหลวงพ่อประเทืองได้ให้ช่างทำการซ่อมปรับปรุง บูรณะโบสถ์ โดยพบอยู่บนเพดานโบสถ์และใต้ฐานพระประธานในโบสถ์ มีจำนวนประมาณหลักร้อยองค์ แต่เหลือจำนวนไม่มากเพราะช่างขโมยไปเกือบหมด 

     สำหรับรอยจารมีทั้งที่เป็นรอยจารเดิมสมัยหลวงพ่อน้อย และที่หลวงพ่อประเทืองมาจารใหม่ แล้วจึงนำไปสร้างกล่องใส่ เพื่อให้คนทำบุญ องค์ละ 5,000 บาท มีทั้งที่เป็นเนื้อทองเหลืองและเนื้ออัลปาก้า ส่วนมากพระที่ถูกพบใต้ฐานพระประธานเนื้อพระจะแห้งและมีคราบดำติดอยู่มาก ส่วนที่พบบนเพดานผิวพระจะค่อนข้างสวยและสมบูรณ์กว่า โดยพระแท้จะปรากฏเส้นวิ่งในซอกแขนเห็นได้ชัดเจนทุกองค์



     ในการพิจารณารูปเหมือนปั๊มฐานกลม  คำว่าหลวงพ่อเดิม “เดิม” ตัว “ด” และสระ “อิ” จะชัดเจนสระอิเป็นเส้นไม่แตก และที่คำว่าหลวงพ่อเดิม หัวมุมฐานด้านล่างส่วนใหญ่จะมนยุบเล็กน้อย ซึ่งในองค์ที่ปั๊มคมชัดจะเห็นเส้นขนแมวในซอกแขนขวาสองเส้นเป็นตัว “วี” ส่วนด้านหลังซอกแขนขวาไม่มีเนื้อเกินปรากฏ และบริเวณชายสังฆาฏิชนฐานจะไม่มีเนื้อเกิน ขณะที่ใบหูหลวงพ่อ(ด้านหลัง) จะแต่งคล้ายใบหูคน 

     และบริเวณฐานด้านหลังไม่มีสันเหลี่ยมจะเป็นครึ่งวงกลม จึงเป็นที่มาของพิมพ์นิยมฐานกลมและเฉพาะเนื้อทองเหลืองในบางองค์จะเห็นมีการรมดำปรากฏอยู่ตามผิวตามซอก    นับเป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ฐานกลมพิมพ์เดียว พิมพ์อื่นไม่ปรากฏว่ามีน้ำยารมดำ



     ส่วนแบบฐานเหลี่ยม ด้านหน้าจะเหมือนกับพิมพ์ฐานกลมทุกประการ แต่จะแตกต่างกันที่ด้านหลัง  คือ1.ไม่มีเนื้อเกินในซอกแขนขวา (ด้านหลัง)  2.ที่ชายสังฆาฏิจะมีเนื้อเกินต่อฐาน (แม่พิมพ์ส่วนนี้เริ่มแตกแล้ว) 3.ส่วนใบหูหลวงพ่อด้านหลังจะแต่งเป็นเหลี่ยม  4.ฐานด้านหลังเริ่มมีการแต่งตะไบเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย 5.ด้านหน้าคำว่าหลวงพ่อเดิม ที่หัวมุมฐานด้านล่างส่วนใหญ่จะมนยุบเล็กน้อยและไม่เคยพบว่าพิมพ์นี้มีการรมดำ   

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเดิม


     รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเดิม รุ่นวัดหนองหลวง รูปหล่อรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกของท่าน แต่ประวัติการสร้างไม่มีการบันทึกบอกกล่าวไว้ มีแต่คำบอกเล่าของนักสะสมพระรุ่นเก่าว่าเทหล่อที่วัดหนองหลวงเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนองหลวง อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ ในราว พ.ศ. 2470-2480 รูปหล่อนี้เทหล่อด้วยเนื้อทองผสมวรรณะ(เนื้อใน) เหลืองปนขาวเล็กน้อย เป็นพระเทหล่อโบราณแม่พิมพ์ประกบเทเป็นช่อตัดชนวนใต้ฐาน  

     ในการทำแม่พิมพ์นี้นายช่างได้ทำแม่พิมพ์ขึ้นด้วยกัน 2  แบบพิมพ์คือ พิมพ์ฐานเตี้ย  กับพิมพ์ฐานสูง  1.รูปหล่อพิมพ์ฐานเตี้ย ลักษณะใบหน้าหลวงพ่อคล้ายผลมะตูม มีรายละเอียดทุกส่วนคมชัด  ส่วนบริเวณสังฆาฏิจะมีเส้นจมคาดกลางในบางองค์จะเห็นช่างแต่งตะไบเส้นนี้ ใต้คำหลวงพ่อเดิมจะไม่มีเนื้อยื่นต่อลง  จึงเป็นที่มาของพิมพ์ฐานเตี้ย (แต่มีบางองค์อาจมีเนื้อยื่นลงมาเล็กน้อย แต่ให้แยกพิมพ์ที่ใบหน้าจะชัดเจน) ใต้ฐานส่วนใหญ่เรียบไม่ค่อยพบว่ามีการลงเหล็กจาร ยกเว้นบางองค์นายช่างจะทำการเจาะอุดเม็ดกริ่ง จึงพบเห็นน้อยมาก 



     ส่วนมากรูปหล่อฐานเตี้ยนี้ถ้าอยู่ในสภาพเดิมจะเห็นผิวเงินคลุมทั่วองค์พระ แต่ในบางองค์ตามซอกจะเห็นคราบดำจากน้ำยารมดำนั่นเอง(พระเนื้อทองเหลืองส่วนใหญ่น้ำยารมดำจะรมไม่ติดจะเหลืออยู่แค่ตามซอกลึกเท่านั้น) ดังนั้นรูปหล่อพิมพ์ฐานเตี้ยนี้จะไม่ค่อยปรากฏว่าช่างแต่งตะเข็บข้างและใต้ฐานส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีการลงเหล็กจาร

     2.รูปหล่อพิมพ์ฐานสูงนี้ จะแตกต่างกันที่แม่พิมพ์ฐานสูง ซึ่งใบหน้าหลวงพ่อจะเรียวเล็กเป็นรูปไข่ตลอดจนองค์พระจะแลดูชะลูดกว่าพิมพ์ฐานเตี้ย บริเวณฐานคำว่าหลวงพ่อเดิม ตัว “อ”จะคล้าย”จ”และจะมีเนื้อยื่นต่อลงมาใต้คำว่าหลวงพ่อเดิม จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ขณะที่ด้านข้างของรูปหล่อพิมพ์ฐานสูงส่วนใหญ่จะมีรอยแต่งตะเข็บด้านข้างให้เป็นริ้วจีวรและบริเวณตะโพกด้านหลังติดฐานก็มีการแต่งเช่นเดียวกัน (มีส่วนน้อยที่ไม่มีการแต่ง) 

     และการแต่งริ้วตะเข็บข้างนี้มีทั้งชนิดแต่งในขณะที่เป็นหุ่นเทียน ซึ่งเมื่อพิจารณาด้วยกล้องจะไม่มีความคมของเครื่องมือ แต่จะปรากฏคราบเบ้าคลุมนี่เป็นจุดพิจารณาจุดหนึ่ง แต่ถ้าเป็นชนิดที่แต่งเมื่อเทหล่อแล้วเสร็จจะเห็นเป็นรอยแต่ง(มักเรียกว่ารอยแทงตะไบ แต่รอยที่เห็นนี้เป็นเหล็กแทงทอง)ตะเข็บและริ้วจีวรตะโพกใต้ฐานช่างจะแต่งตะไบเรียบ  ส่วนใหญ่มักจะปรากฏเหล็กจาร “พุฒซ้อน” หรือเรียกว่า “พระเจ้าอมโลก”ไว้ และยังไม่เคยพบว่าพิมพ์ฐานสูงมีการเจาะบรรจุเม็ดกริ่งเหมือนพิมพ์ฐานเตี้ยบางองค์



     นอกจากนี้รูปหล่อพิมพ์ฐานสูงยังจำแนกผิวออกเป็น 3 ชนิดอีกคือ1.ผิวพรายเงิน ซึ่งผิวองค์พระปรากฏเป็นผิวพรายเงินคลุม ชนิดนี้มีค่านิยมสูงสุด  2.ชนิดผิวน้ำทอง จะไม่มีพรายเงินคลุม แต่จะมีคราบน้ำทอง(สีเหลืองเหลือบทอง คล้ายผิวพระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีน) ชนิดนี้ค่านิยมเป็นรองลงมา  3.ชนิดผิวรมดำ  ที่ผิวองค์พระจะเห็นน้ำยารมดำคลุมและผิวพระส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเรียบตึงจะเห็นเป็นรอยย่น ซึ่งรอยเหล่านี้เกิดจากการที่ช่างนำพระที่เทหล่อเสร็จแล้วไปผ่านกระบวนการกัดน้ำยาเพื่อรมดำ(น้ำยารมดำจะไม่จับผิวพระเนื้อทองเหลือง) รูปหล่อชนิดนี้ค่านิยมจะถูกกว่า 2 ชนิดข้างต้นและวรรณะเนื้อจะเหลืองปนเขียว แต่ถ้าเป็น 2 แบบข้างต้นเนื้อจะเหลืองปนขาวกว่า

     สรุปรูปหล่อหลวงพ่อเดิม  วัดหนองหลวง  จุดพิจารณาให้ยึดพิมพ์ให้แม่น จำวิธีการสร้างคือดูพระหล่อ-พระปั๊ม-พระฉีดให้แยกได้ เข้าใจธรรมชาติคือความเก่าความซีดความแห้งของพระ พร้อมทั้งรายละเอียดปลีกย่อย เช่นรอยเหล็กจาร การแต่งตะไบให้ได้ รับรองว่าดูออกแน่ว่าแท้หรือเปล่า   ส่วนจำนวนการสร้างทั้งสองแบบพิมพ์ไม่มีการบันทึกไว้ว่าสร้างเท่าไหร่เพียง แต่คาดเดาว่าทั้งสองแบบพิมพ์ไม่น่าเกิน 2,000-3,000 องค์ 

     นอกจากนี้พิมพ์ฐานเตี้ยชนิดที่ผ่านการรมน้ำยาดำผิวพระจะมีความตึงไม่เหมือนพระพิมพ์ฐานสูงชนิดรมดำที่ผิวพระส่วนใหญ่จะไม่เรียบตึง เพราะพิมพ์ฐานเตี้ยไม่ผ่านการกัดน้ำยา และที่สำคัญรูปหล่อพิมพ์ฐานเตี้ยน่าจะสร้างก่อนพิมพ์ฐานสูง เพราะงานหล่อความสวยงามตลอดจนความเรียบร้อยสู้พิมพ์ฐานสูงไม่ได้และจำนวนการสร้างเมื่อเทียบเคียงพบเห็นน้อยกว่าพิมพ์ฐานสูงมาก


รูปหล่อโบราณรุ่นสุดท้าย

     สำหรับรูปหล่อโบราณลอยรุ่นที่สร้างในปี 2493 นั้นจัดเป็นรุ่นสุดท้ายที่หลวงพ่อเดิมปลุกเสก ในช่วงนั้นหลวงพ่อเดิมได้มาบูรณะโบสถ์ที่วัดอินทาราม อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งท่านเป็นผู้สร้าง และมีความผูกพันธ์อยู่มาก เมื่อมีโอกาสท่านจะมาดูแลอยู่เสมอ ร้านพงษ์ศิลป์ ได้สร้างรูปหล่อโบราณลอยองค์หลวงพ่อเดิมถวาย และนิมนต์ให้หลวงพ่อเดิมปลุกเสก เพื่อแจกญาติพี่น้อง มิตรสหาย จึงเป็นรุ่นสุดท้ายที่หลวงพ่อเดิมปลุกเสก ทางพื้นที่เรียกกันว่า รุ่นพงษ์ศิลป์ หรือรุ่นยายพวงมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดอินทาราม  ซึ่งหลวงพ่อเดิมปลุกเสกทิ้งทวนก่อนมรณะภาพ 1 ปี และยังพอหาเช่าได้ในราคาไม่แพงมาก  เพราะถ้าไปคว้านหารูปหล่อวัดหนองหลวงราคาพุ่งสุูงหลายแสนบาทแล้ว และที่สำคัญของเก๊ออกมาเกลื่อนตลาด 



       นับว่าหลวงพ่อเดิม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่มีพุทธาคมแก่กล้า ที่มีผู้คนเหลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะชาวนครสวรรค์ แต่คนไทยทุกสารทิศต่างให้ความนับถือกันทั่ว เพราะวัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้ให้เป็นที่พึ่งนั้นล้วนแต่ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง  ไม่ว่าจะมีดหมอที่มีให้เลือกหลายขนาด สิงห์งาแกะที่มีทั้งสามขวัญ สองขวัญ ราคายังไม่สูงมาก ส่วนเหรียญเสมา กับเหรียญรูปไข่ ราคาไปไกลแล้ว และรูปเหมือนปั๊ม รวมถึงรูปหล่อโบราณ ยิ่งราคาเกินเอื้อม ซึ่งวัตถุมงคลทั้งหมดล้วนแต่สามารถปกป้องคุ้มครองจากอันตรายได้จริง และช่วยส่งเสริมให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองไปตาม ๆ กัน   

แกลเลอรี่ :

คำค้น : หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , ประวัติหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ , มีดหมอหลวงพ่อเดิม , สิงห์งาแกะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ,รูปหล่อหลวงพ่อเดิม ,เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , ประวัติหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ , หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ , มีดหมอปากกาหลวงพ่อเดิม , ตะกรุดโทนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , รูปเหมือนปั๊มพิมพ์ฐานสูงหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , สิงห์สาริกางาแกะสามขวัญหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , เหรียญเสมารุ่นแรกปี 2470 หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ,เหรียญรูปไข่ปี 2482 หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ , สิงห์งาแกะกรอบกระจก หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ , สิงห์งาแกะแบบสองขวัญ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ