พระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

LINE it!

       แค่เอ่ยชื่อหลวงบุญ แห่งวัดกลางบางแก้ว  จังหวัดนครปฐม  บรรดาเซียนพระทั้งเล็กและใหญ่ต่างศรัทธาและให้การยอมรับว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านไสยเวทย์เป็นอย่างสูง และสำเร็จฌานวิเศษ จนมีอิทธิคุณหลายประการ  ซึ่งพระเครื่องที่ท่านตั้งใจสร้างและปลุกเสกขึ้นมานั้นล้วนแต่ได้รับการกล่าวขานว่ามีพุทธคุณสูง ส่งผลให้ผู้ที่มีไว้บูชาต่างไปรับประสบการณ์กันอย่างถ้วนหน้า    

     และในที่นี่จะมากล่าวถึงความเป็นมาของพระพิมพ์ปรกโพธิ์ เนื้อดินเผา ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมีทั้งพระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่ที่มีหลังยันต์หลาย ๆ แบบ กับพระพิมพ์ปรกโพธิ์เล็ก ซึ่งทั้งสองพิมพ์นี้จัดว่าได้รับความนิยมมากในปัจจุบันนี้ ดังนั้นจึงมีของปลอมออกมาทำให้วงการปั่นป่วนพอสมควร ทั้งนี้เพราะเป็นพิมพ์ที่มีจำนวนมากกว่าพิมพ์อื่นๆ และได้รับความนิยมกันไม่น้อย  


                                                พระปรกโพธิ์ใหญ่หลังจารอักขระเลข ๖

     ในสมัยก่อนเวลาทำบุญงานปีของทางวัดกลางบางแก้วใครที่ไปร่วมงานก็จะได้รับแจกพระเครื่องจากหลวงปู่บุญไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่ เนื้อดินเผา รวมทั้งพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงปู่บุญพิมพ์อื่นๆสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2456 นับเป็นพระเครื่องชุดแรกๆ ที่หลวงปู่สร้างขึ้น ขณะที่มีอายุราว 65 ปี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว และเป็นเจ้าคณะหมวดปกครองคณะสงฆ์แล้ว 


                                                                  พระพิมพ์ปรกโพธิ์เล็ก

     และในการสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาในปีดังกล่าวนั้น  ได้รับคำยืนยันจากหลวงปู่เพิ่ม ซึ่งระหว่างนั้นบวชได้ราว 7-8 พรรษา ได้ช่วยสร้างพระเครื่องเนื้อดินดังกล่าวโดยเป็นคนกรองดินจากตุ่มหมักดิน และเมื่อนำมาประกอบพิจารณาจากบาตรดินเผา ซึ่งมีเนื้อดินเหมือนเนื้อพระทุกประการ และใช้บรรจุพระเครื่องไว้ในเพดานมณฑป โดยที่บาตรดินดังกล่าวนั้นได้เขียนไว้ว่าพ.ศ.2456. จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าพระเครื่องเนื้อดินของหลวงปู่บุญสร้างในปี พ.ศ.2456 ซึ่งนับถึงปัจจุบันอายุพระเนื้อดินของหลวงปู่บุญได้ 104  ปีแล้ว นับว่ามีอายุการสร้างมานานกว่าร้อยปี  


                                          พระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่หลังจาร "อัง" เลข ๖

     ในด้านมวลสารของพระเครื่องนั้น ได้ไปเอาดินเหนียว จากริมตลิ่งแม่น้ำนครชัยศรีขึ้นมาส่วนหนึ่ง พร้อมกับดินขุยปูรูอุดตันจากทุ่งนามาผสมทรายเสกและเม็ดแร่บด  และทำการกรองดินจากตุ่มหมักดินกับน้ำ เพื่อให้ได้เนื้อดินละเอียด  ซึ่งบรรดาพระภายในวัดช่วยกันนวดดิน โดยมีหลวงปู่บุญนำผงมาผสมลงในเนื้อดิน กรรมวิธีการนวดดินใช้ไม้ไผ่ตอ ท่อนยาวประมาณ 2 วา ผูกปลายไว้ด้านหนึ่งด้วยหวายก็คันรับช่วงต้นทำเป็นโก่งแล้วคนนวดดินถือปลายอีกด้านหนึ่งกดลงกับดินซึ่งวางไว้ใต้คานไม้มีคนคอยปัดดินเข้าหากัน คนถือปลายไม้ก็มีหน้าที่โก่งกดนวดไปเรื่อยๆ จนได้ดินเหนียวได้ที่แล้วจึงช่วยกันกดพิมพ์ 

     หลังจากกดแม่พิมพ์แล้ว จึงปล่อยให้เนื้อดินแห้งสนิท ระหว่างนั้นหลวงปู่บุญท่านมาคุมอยู่ตลอดเวลา บางครั้งท่านก็หยิบพระที่พิมพ์แล้วมาลงจารด้านหลัง ซึ่งจะพบว่าพระเนื้อดินบางองค์มีจารอักขระลายมือ แล้วถึงนำไปเผาที่ใต้ต้นสมอพิเภกด้านหน้าวิหาร โดยขุดหลุมลงไปในพื้นดินแล้วสุมด้วยแกลบ พร้อมกับปลุกเสกด้วยการเดินกสิณเตโชธาตุลงไป หรือกสิณไฟ โดยเฉพาะยามกลางคืนท่านจะเดินจงกรมรอบเตาเผาที่สุมไว้ทั้งคืน จนพระสุกดีแล้วจึงนำขึ้น และบางทีพระที่เผาเสร็จแล้วท่านก็นำจารยันต์ด้วยเช่นกัน 



     จากนั้นหลวงปู่บุญท่านให้ใส่บาตรเดินเอาไปไว้บนหอสวดมนต์ แล้วหลังจากสวดมนต์แล้วก็จะทำการปลุกเสกอยู่ทุกวันเป็นประจำนานประมาณ 20 ปีติดต่อกัน เพราะพระเครื่องจากหอสวดมนต์ทั้งหมด หลวงปู่บุญให้นำไปบรรจุกรุที่มณฑปเมื่อปี พ.ศ. 2476 เมื่อรื้อหอสวดมนต์เก่าสร้างซ่อมแซมใหม่ทั้งหลัง จึงได้เคลื่อนย้ายพระเครื่องมาไว้ที่หอสวดมนต์ตลอดเวลา 20 ปีนั้น หลวงปู่บุญท่านสวดมนต์บนหอสวดมนต์ประจำ เช้า-เย็น และปลุกเสกอยู่เป็นประจำ 

     ในการเก็บไว้ในกรุนั้นหลวงปู่เพิ่มท่านได้บอกว่าได้ไปร่วมสวดบรรจุด้วยทุกครั้งที่มีการบรรจุกรุพระเครื่อง แต่ต่อมากรุได้แตกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 โดยเด็กวัดได้เล่นฟุตบอลไปกระแทกด้านหน้าของซุ้มประตูมณฑป  ซึ่งชำรุดอยู่แล้วจึงทำให้แตกหักขึ้นมา พระเครื่องที่บรรจุไว้ภายในเลยทะลักออกมาล้วนแต่เป็นพระเนื้อดินเผาทั้งหมด และมีอยู่เพียงพิมพ์เดียวคือ “พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่” ด้านหลังเป็นยันต์ปั๊มสี่เหลี่ยม มีอักขระปรากฏในช่องตารางสี่ช่องทั้งหมด และไม่เคยเห็นมีด้านหลังจารอักขระด้วยมือแม้แต่องค์เดียว   ซึ่งพอหลวงปู่เพิ่มทราบเรื่องจึงได้นำพระมาเก็บใส่บาตรไว้ได้ประมาณ 5 บาตร แล้วนำไปเก็บไว้บนหอสวดมนต์ 


                                                  พระปรกโพธิ์ใหญ่หลังยันต์ปั๊มโต๊ะกัง

     ต่อมาพระเครื่องเนื้อดินเผา ปรากฏออกจากกรุอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2516 ขโมยเข้าโจรกรรมพระบูชาภายในมณฑปไปเป็นจำนวนมากและพยายามจะปีนขึ้นไปบนเพดานด้านบนแต่สุดวิสัยจะทำได้ พระภายในวัดได้พบร่องรอยถูกงัดในตอนเช้าจึงนำความไปบอกหลวงปู่เพิ่ม ท่านจึงมอบให้พระปลัดใบ คุณวีโร ไปนำพระเครื่องซึ่งใส่บาตรเดินเผา ซึ่งบรรจุไว้บนเพดานมณฑป จำนวน 22 บาตร ลงมาทั้งหมด ซึ่งในครั้งนี้ปรากฏว่าในบาตรดินเผาเหล่านั้นเป็นพระเครื่องหลายเนื้อด้วยกัน มีทั้งเนื้อดินเผาและเนื้อผงผสมว่าน เนื้อโลหะมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ 


                                             พระพิมพ์ปรกโพธิ์เล็กหลังจารอักขระต่อ 2 ตัว

     สำหรับสภาพพระเนื้อดินของหลวงปู่บุญนั้นถึงจะมีอายุนับร้อยปี แต่วรรณะยังดูสดใสไม่ปรากฏคราบกรุหรือคราบความเก่าปรากฏอยู่เลย จึงขอชี้แจงว่าพระเนื้อดินเผา หลวงปู่ปรากฏพบอยู่ตามบ้านคนทั่วไป ซึ่งเก็บเอาไว้บนหิ้งบูชาอย่างดี พระดังกล่าวผู้ได้รับไปในสมัยหลวงปู่บุญมีชีวิตอยู่มอบให้ไป จึงเก็บรักษาบูชาไว้อย่างดีสภาพพระที่อยู่ตามบ้านชาวนครชัยศรี จึงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกประการ หรือในส่วนที่เก็บไว้เมื่อพิจารณาจากสภาพกรุบนซุ้มประตูมณฑปแล้วจะเห็นว่าภายในเป็นห้องสี่เหลี่ยมโบกปูนสนิทแน่นทุกด้าน ไม่มีโอกาสที่น้ำจะไหลหรือซึมเข้าไปได้แม้แต่น้อย ดังนั้นสภาพพระจึงยังคงสมบูรณ์

     เป็นอีกรุ่นที่น่าหามาบูชาเพราะพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงปู่บุญนี้  เป็นพระเครื่องที่มีการปลุกเสกนานที่สุดก็ว่าได้  จึงมั่นใจได้ว่าพุทธคุณที่บรรจุอยู่นั้นเต็มเปี่ยมในทุก ๆ ด้านสามารถเป็นที่พี่งให้กับผู้ศรัทธาได้อย่างแน่นอน และมาถึงวันนี้ก็ยังพอมีให้เช่าในราคาไม่สูงเกินไป ใครเจอก็ให้รีบเก็บไว้ต่อไปจะหายาก       

 

แกลเลอรี่ :

คำค้น : พระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์ , พระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์ลป.บุญ วัดกลางบางแก้ว , พระเนื้อดินเผาหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม ,พระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่หลวงปู่บุญ ,พระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์ยอดนิยม , วิธีการสร้างพระเนื้อดินหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, ประวัติหลวงปูบุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม , พระเครื่องของลป.บุญ วัดกลางบางแก้ว , พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของนครปฐม